เจ้าดารารัศมี พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า “เจ้าน้อย” และในพระประยูรญาติว่า “เจ้าอึ่ง” ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ประสูติแต่เจ้าทิพเกสร
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว
เมื่อวัยเยาว์นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้จัดการให้พระองค์ไว้จุกตามแบบธรรมเนียมสยาม ซึ่งไม่เคยปรากฏในล้านนามาก่อน
เจ้าดารารัศมี ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา
ในปี ๒๔๒๙ นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา
ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น “เจ้าหญิงเมืองลาว” แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ
ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี ๒๔๕๑ ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสีดำรงพระอิสริยยศ “พระราชชายา” และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายแห่งพระราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น
ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง “พระอัครชายาเธอ” เลยทีเดียว
ในที่สุดเจ้าดารารัศมี ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อปี ๒๔๓๒ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า วิมลนาคนพีสี” (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า “เสด็จเจ้าน้อย” เป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง ๓ ปี ก็สิ้นพระชนม์ลง
การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกล่าวโทษพระองค์เองว่าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น “เจ้าฟ้า” ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ แต่สำหรับเจ้าดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่พระบรมราชสวามีประทับร่วมอยู่กับพระองค์และพระราชธิดาเสียจนหมดสิ้น
หลังจากเสด็จนิวัติพระนคร เจ้าดารารัศมีได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิตได้เพียง ๑๐ เดือน ก็ต้องทรงประสบกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต นับรวมเวลาที่เจ้าดารารัศมีได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ
นับแต่สิ้นรัชกาลที่ ๕ เจ้าดารารัศมียังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปี ๒๔๕๗ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลา รัชกาลที่ ๖ เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ และเสด็จพระดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ ได้เข้าประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่รัชกาลที่ ๖ สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์เป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี
จนกระทั่งปี ๒๔๗๖ พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการและเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา
ความทราบถึงพระกรรณรัชกาลที่ ๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรเจ้าดารารัศมี พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยในการรักษาพระอาการและโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำวัน ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากประเทศอินโดนีเซียเพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด
พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง ๑ สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด ๗ วัน เป็นเกียรติยศ