ตามพระราชดำริ

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งจากศาลาเก้าเหลี่ยม ริมอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เสด็จมาเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน ด้วยพระองค์เอง

โดยมีสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และคุณทองแดง ร่วมตามเสด็จมาในรถพระที่นั่ง เมื่อเสด็จมาถึง ทรงเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน โดยวางถุงใส่หัวมันเทศลงบนตาชั่ง

เปิดแพรคลุมป้ายชื่อโครงการ มีข้าราชการ ข้าราชบริพาร พสกนิกรที่ปฏิบัติงานในโครงการ และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมกันเป็นสักขีพยาน หลังจากเปิดป้ายโครงการแล้ว ทรงมีพระราชปฏิสัณถารกับข้าราชการ ที่มาปฏิบัติงาน และราชทานวโรกาสให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคนได้เข้าเผ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด

นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ.๒๕๕๒) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลา (หมวก)ที่ทำจากป่านศรนารายณ์ ประดับด้วยตราประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสมาชิกในโครงการสหกรณ์หุบกะพง หลังจากนั้น ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรรอบพื้นที่โครงการ ก่อนเสด็จกลับวังไกลกังวล


​ทรงให้โครงการนี้ เป็นแบบอย่างของความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นจากความสามัคคี ร่วมมือกันของหลายฝ่าย ดังพระราชดำรัส ที่ทรงพระราชทานให้แก่คณะผู้เข้าเฝ้า ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ความว่า

“…คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำเพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้ เป็นสิ่งที่ดีมาก

หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำ มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำ แล้วก็ทำให้ก้าวหน้า

แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่งมันทั้งหมด ร่วมกันทำและก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่า ประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ…”

 
 
 
            

ประวัติความเป็นมาโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ ๑๒๐ ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ

บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ ๕ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง มาปลูกไว้ที่นี่

โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา สภาพพื้นที่โดยทั่วๆ ไป แห้งแล้ง ดินปนทรายและหินลูกรัง เจ้าของที่ดินเดิมปลูกต้นยูคาลิปไว้และตัดไม้ขายไปแล้ว มีแต่ต้นยูคาลิปที่งอกมาจากต้นตอเดิมเต็มพื้นที่ มีแปลงมะนาวเดิมอยู่ประมาณ ๓๕ ไร่ และแปลงปลูกอ้อย ๓๐ ไร่ จึงได้พัฒนาพื้นที่ ให้เป็นแปลงปลูกพืชเศรฐกิจ ซึ่งมีทั้งพืชผักสวนครัว นาข้าว สวนไม้ผล ยางพารา มะพร้าว สัปรด พืชไร่ ฯลฯ

กองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเอาหัวมันเทศวางบนตาชั่งตั้งไว้บนโต๊ะทรงงาน หัวมันเทศเมื่อวางอยู่นานเข้าก็จะแตกใบ มีต้นงอกออกมา

ก็ทรงให้เอาต้นมันนั้นไปเพาะเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำ แล้วนำมันเทศหัวใหม่มาวางไว้บนตาชั่งแทน ทำเช่นนี้เรื่อยไป ในเรือนเพาะชำก็มีแต่ต้นมันเทศ ทรงมีดำริว่า หัวมันเทศวางไว้บนตาชั่ง

ไม่มีดินและน้ำยังงอกได้ที่ดินแปลงนี้ มีดินและพอมีน้ำอยู่บ้างก็น่าจะปลูกมันเทศได้ จึงทรงพระราชทานต้นมันเทศจากเรือนเพาะชำมาปลูกไว้ที่นี่ และพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ”

Chang Hua Mun Royal Initiative Project, Phetchaburi

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
https://bit.ly/3fkdM0E