พิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ

วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เมื่อ76ปีที่แล้ว ภายหลัง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” (พระนามก่อนทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) เสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ได้ทรงเข้าพิธีแสดงพระราชดำรัส เพื่อแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าสังฆมณฑล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี “สมเด็จพระสังฆราช” (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เป็นประธาน

ต่อมาเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี ด้วยการเสด็จทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2494 พระองค์ทรงรับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทรงได้รับสมณนามจากพระอุปัชฌาย์จารว่า “ภูมิพโลภิกขุ”

ขณะทรงครองเพศสมณะ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยตามแบบอย่างพระภิกษุโดยเคร่งครัด โดย “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ในฐานะพระพี่เลี้ยงในขณะนั้น ได้ทรงเล่าถึงพระราชจริยาวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวชไว้ในหนังสือ “ในหลวงของเรา” ความว่า

“…สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง… จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้เป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า ‘หัวใหม่’ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า ‘บวชด้วยศรัทธา’ เพราะพระองค์ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด…

ตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จฯ ไปทั้งในวัดและนอกวัด ไม่ทรงสวมฉลองพระบาท เสด็จฯ ไปด้วยพระบาทเปล่าทุกแห่ง ได้ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ และทรงรักษาเวลามาก เมื่อตีระฆังลงโบสถ์ในวันปกติทุกเช้าเย็น เวลา 08.00 น. และ เวลา 17.00 น. ก็จะเสด็จลงโบสถ์ทันที ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งวัดพากันรักษาเวลาอย่างเคร่งครัด โดยที่ได้ไปประชุมกันในโบสถ์ก่อนเวลาที่จะเสด็จฯ ถึง…”

ที่มาจาก เพจน้ำเงินเข้ม