เหตุใดจึงเรียก กรมหลวงชุมพรฯ ว่า “เสด็จเตี่ย”

เคยสงสัยกันไหมว่า เหตุใดใคร ๆ จึงเรียก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ว่า “เสด็จเตี่ย”

หลาย ๆ ท่านคงเคยศึกษาพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กันมาบ้างแล้ว และทราบว่า พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย” อีกทั้งยังทรงมีอีกพระบทบาทหนึ่งคือ การเป็นหมอพรของชาวบ้าน เหตุเพราะทรงใช้วิชาความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยและฝรั่งช่วยรักษาผู้ป่วยให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่คิดเงิน หรือเลือกชั้นวรรณะ และด้วยพระเมตตา ความรู้ พระปรีชาสามารถ และน้ำพระทัยของพระองค์ ทำให้ผู้คนต่างพร้อมใจกันขนานนามพระองค์ว่า “หมอพรเทวดา” ยกย่องพระองค์เป็นเสมือนเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลงมาโปรดมนุษย์มากกว่าการเป็นเจ้าเป็นนาย ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมใคร ๆ จึงเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” นั้น เพจน้ำเงินเข้มจะค่อย ๆ เล่าไปตามลำดับ

ก่อนอื่นเรามาศึกษาพระประวัติคร่าว ๆ ของพระองค์กันสักเล็กน้อย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “อาภากร” และเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค ธิดาคนที่ 6 ของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ หรือ วร บุนนาค ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง และเจ้าจอมมารดาโหมดยังเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์อีกด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส โดยพระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เหตุเนื่องจากพระมารดาของพระองค์กับพระมารดาของพระนางเจ้าสุวัทนาทรงเป็นพี่น้องกัน

ด้านการศึกษา ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในต่างประเทศ และทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 6 ปีเศษ พร้อมกับได้รับการเลื่อนยศเป็น เรือเอก ในกองทัพราชนาวีประเทศอังกฤษ

เมื่อเสด็จกลับนิวัติพระนครทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในกิจการทหารเรือ ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท หรือปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี และเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ “กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2449

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “พระราชวังเดิม” ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และได้ยึดถือทุกวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันกองทัพเรือ”

นอกจากนี้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ยังได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ และทรงเป็นครูสอนให้แก่นักเรียนนายเรือ อีกทั้งยังทรงเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับทหารเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ และการเดินเรือเรขาคณิต

อีกทั้งยังทรงจูงใจให้มีผู้มาสมัครเรียนเป็นทหารเรือเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่ไม่ค่อยมีคนนิยมมาสมัครเป็นทหารเรือเพราะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดทะเล โดยทรงแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนที่สมัครเข้ามาเรียนและเพิ่มเงินตามชั้นที่สูงขึ้น รวมทั้งทรงผูกพระทัยนักเรียนด้วยความตั้งพระทัยจริงให้นักเรียนนายเรือทุกนายมีความตั้งใจเรียน รักและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียนและกองทัพเรือ

นอกจากนี้ด้วยพระอุปนิสัยที่ทรงมีพระเมตตาโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ และความมีใจนักเลง กอปรกับวิชาความรู้ พระปรีชาสามารถ และเก่งฉกาจในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านวิชาอาคมซึ่งพระองค์ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านนี้ จึงสามารถผูกใจให้นักเรียนที่มีนิสัยนักเลงไว้ได้ ทำให้เหล่านักเรียนเชื่อมั่นในพระองค์ว่าทรงเป็นที่พึ่งพาของพวกเขาได้ อีกทั้งทรงเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนและผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในเวลาและนอกเวลางานอย่างไม่ถือพระองค์ โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ในเวลาค่ำของวันหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันในขณะประทับพักผ่อนที่วังนางเลิ้ง โดยมีผู้วิ่งมาทูลว่า มีทหารเรือชั้นผู้น้อยนายหนึ่งถูกรุมต่อยตีอยู่ที่ตลาดนางเลิ้ง จึงทรงเร่งเสด็จไปช่วยเหลือทหารเรือนายนั้นทันที โดยทรงเอาพระวรกายเข้ารับคมดาบของอีกฝ่าย แต่ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ แก่พระองค์ได้เลย จนเป็นที่เลื่องลือว่าทรงอยู่ยงคงกระพัน และอีกครั้งทรงมีพระกรุณาเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้แก่ลูกศิษย์ในฐานะพระอาจารย์อย่างไม่ถือพระองค์ว่าเป็นเจ้า อีกทั้งหากมีการฌาปนกิจศพทหารเรือก็ทรงให้จัดการพิธีอย่างสมเกียรติทุกชั้นยศ

สำหรับเหตุที่ใคร ๆ ต่างเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย บันทึกไว้ในบทความชื่อ “ชีวิตนักเรียนนายเรือสมัย พ.ศ. 2462” ได้บันทึกไว้ช่วงตอนหนึ่งว่า

ในวันที่ 11 ต.ค. พ.ศ. 2462 ได้มีการออกฝึกภาคทะเล ในขณะนั้น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการฝึก และประทับที่ ร.ล.พาลีฯ ในเวลาเช้าวันหนึ่งมีการขัดหินทรายและเช็ดล้างดาดฟ้าไม้ที่ท้ายเรือ พวกนักเรียนใหม่ทำงานกันไม่เป็น ท่าทางเงอะงะ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงประทับและทอดพระเนตรอยู่ในที่นั้นด้วย จึงมีพระดำรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า

“อ้ายลูกชายมานี่ เตี่ยจะสอนให้” แล้วทรงทำงานให้ดูจนเสร็จอย่างไม่ถือพระองค์ ทำให้นักเรียนมีความเคารพรักและภักดีต่อพระองค์กันมาก และพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีบันทึกในเอกสารสโมรสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ในเรื่องการเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” ด้วยดังนี้

“นอกจาก ‘เสด็จเตี่ย’ แล้ว ในหมู่พระโอรส พระธิดา และทหารผู้ใกล้ชิด ก็ยังโปรดให้เรียกพระองค์ว่า ‘ติ๊ดเตี่ย’ นายพลเรือ พระยาหาญกลางสมุทร หรือบุญมี พันธุมนาวิน ก็เคยเขียนชี้แจงว่า ตอนที่ทรงเป็น ‘หมอพร’ รักษาคนโดยไม่คิดสตังค์นั้น คนจีนก็เรียกพระองค์ว่า ‘เตี่ย’ และว่าคนไทยเรียก ‘ทิดเตี่ย’

ด้วยเหตุนี้ จึงสันนิษฐานว่า ทำไมใคร ๆ จึงเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” เพราะด้วยพระอุปนิสัยที่ทรงมีพระเมตตาอย่างไม่ถือพระองค์ ประหนึ่ง “พ่อ” ทำให้คนทั่วไปจึงขอปวารณาเป็นลูกของพระองค์กันด้วยความรู้สึกเคารพรักในพระองค์ และยิ่งเมื่อทรงสิ้นพระชนม์ ความรักเทิดทูนบูชาพระองค์ยิ่งเพิ่มพูนทวีมากขึ้น และมีการเสริมเติมแต่งเรื่องราวให้ทรงเป็นเสมือนผู้วิเศษ ที่สามารถบนบานขานกล่าวขอให้ทรงช่วยในเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีคนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ขอ ก็ยิ่งเพิ่มเรื่องราวปาฏิหาริย์มากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ประหนึ่งว่าดวงพระวิญญาณของพระองค์ยังคงคุ้มครองทุกคนตราบจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังมีการสร้างรูปเหรียญรูปเคารพไว้สำหรับบูชากันอย่างมากมายอีกด้วย

นี่ก็คือ เรื่องราวโดยสังเขปที่เพจน้ำเงินเข้มนำมาบอกเล่ากันในความเป็นมาของ “เสด็จเตี่ย” หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หวังว่าทุกท่านจะชื่นชอบในเรื่องราวที่ได้นำมาเล่าทั้งหมดนี้

ที่มา เพจน้ำเงินเข้ม