ปราสาทนครวัดนี้ใหญ่จริง ๆ

พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ที่ทรงมีเมื่อทอดพระเนตร #ปราสาทนครวัด

เป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศกัมพูชาเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม พ.ศ. 2535 #เมื่อ30ปีที่แล้ว ซึ่งมีพระราชดำริว่าการเสด็จฯ ครั้งนั้นเป็น #เขมรยกหนึ่ง โดยเป็นทัวร์สั้น ๆ ณ กรุงพนมเปญ เท่านั้น (ต่อมาทรงเสด็จฯ เยือนกัมพูชาอีก 2 ครั้ง เป็นเขมรยกสอง และเขมรยกสาม ในช่วงปี พ.ศ. 2536)

การเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ใน “เขมรยกหนึ่ง” นั้น “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรปราสาทเขมรที่มีชื่อเสียงมากมาย และทรงใช้เวลากับ #ปราสาทนครวัด เพื่อชื่นชมกับสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกแห่งนี้อย่างใกล้ชิดถึง 1 วันเต็ม

และจากที่ทรงมีพระราชดำรัสข้างต้นนั้น มีผู้เชี่ยวชาญได้ทูลถวายรายงานว่า… หินทั้งหมดที่นำมาสร้างปราสาทมาจากเขาพนมกุเลน เมื่อตัดหินแล้วก็ล่องมาตามแม่น้ำเสียมราฐมาถึงปราสาท

โดยประโยชน์อย่างหนึ่งของคูหรือสระรอบปราสาท ก็คือ การขนส่งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งปราสาทนครวัดนี้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.1650-1700 สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อบรรจุพระศพหรือเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 (สุริยวรมันที่ 2)

นอกจากวิธีการสร้างแล้ว รูปภาพสลักต่าง ๆ ที่ปรากฏในปราสาทนครวัดก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนพระทัยได้อย่างมากเช่นกัน โดยทรงเห็นว่ารูปสลักนั้นสวยงามมากแต่ทรงเสียดายที่บางส่วนน้ำฝนรั่วเข้าไปได้

ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีจะทำให้เสียหายได้ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภาพสลักเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งคล้ายกับภาพฝาผนังที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ฝีมือในการแกะสลักมีระยะใกล้ไกล ทำให้มีชีวิตชีวาอย่างน่าอัศจรรย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงมีรับสั่งว่าทรงโปรดที่จะดูรายละเอียดของภาพสลักเหล่านั้น เช่น ศึกลงกา มีพระราม พระลักษณ์ รูปยักษ์คงเป็นพิเภก รถไม่ใช้ม้าลากอย่างปกติ ใช้สิงห์ลาก ลิงส่วนมากไม่มีอาวุธสู้รบด้วยการกัดข้าศึก

มีสัตว์ประหลาดเหมือนม้าปนแพะอย่างไรก็บอกไม่ถูก ในแง่การผูกลายหรือจัดองค์ประกอบภาพช่างทำได้สวยงามมาก พอเหมาะสมกับเนื้อที่ที่มีอยู่ แต่ภาพบางส่วนในสมัยหลังมองเห็นชัดว่าฝีมือไม่งามเท่า ส่วนระเบียงด้านตะวันตกเฉียงใต้ที่สลักภาพมหาภารตะนั้นทรงเดาเรื่องราวจากภาพได้น้อยกว่าเรื่องรามเกียรติ์

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีความผูกพันกับประเทศกัมพูชามาช้านาน นับตั้งแต่ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งทรงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่าน เขียนอักษรขอมที่ไทยเรานำมาใช้เขียนคัมภีร์พุทธศาสนา ทั้งที่เป็นภาษาบาลีและภาษาไทย

เมื่อทรงศึกษาระดับมหาบัณฑิตก็ได้ทรงศึกษาภาษาและวรรณคดีเขมรเพิ่มเติม ทรงอ่านจารึกเขมรตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร สมัยเขมรกลาง ทรงเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์เขมร ทรงร้องเพลงเขมร

และทรงดนตรีเขมรด้วย อีกทั้งหลังทรงสำเร็จการศึกษาแล้วยังมีโอกาสทำงานให้กับสภากาชาดไทยในเรื่องเขมรอพยพด้วย พระองค์จึงมีพระราชวินิจฉัยที่จะทรงใช้ภาษาเขมรและความรู้เกี่ยวกับเขมรให้เต็มที่

ดังนั้น เมื่อถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 “มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” และ “หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล” ได้จัดนิทรรศการและจัดพิมพ์พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เรื่อง นิราศนครวัด จึงเป็นแรงบันดาลพระทัยให้กรมสมเด็จพระเทพฯ มีพระราชประสงค์จะไปเยือน แต่ “หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล” มีรับสั่งว่าเดือนสิงหาคมฝนตก ไม่เหมาะจะทรงทัวร์นครวัด

พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จฯ แค่พนมเปญ และเป็นการเสด็จฯ แบบไม่เป็นทางการ พร้อมทรงรับสั่งด้วยพระอารมณ์ขันว่า ภาษาและศิลปะเขมรที่เคยเรียนมานั้นทรงลืมหมดแล้ว

อาจารย์อุไรศรีซึ่งเคยถวายการสอนภาษาเขมร จึงถวายคำแนะนำให้ทรงทบทวนความรู้ที่ได้เคยเรียนมา แต่ก็ทรงไม่มีเวลา จึงมีรับสั่งว่า ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการเสด็จฯ ไปเล่น ๆ และไม่ทรงซีเรียสแต่อย่างใด

ปราสาทนครวัดนี้ใหญ่จริง ๆ

 

ปราสาทนครวัดนี้ใหญ่จริง ๆ

 

ปราสาทนครวัดนี้ใหญ่จริง ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
https://bit.ly/3QXG7rF