ภาพเก่าเล่าอดีต พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.9

เปิดภาพเก่าเล่าอดีต พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เมื่อ 46 ปีที่แล้ว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้นของทั้งสองพระองค์) โดยเสด็จด้วย

ทั้งนี้ ในการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า

“…ทุกครั้งที่เข้าในงานมอบปริญญาที่ไหนก็ตาม มีความรู้สึกว่ามีความยินดี เพราะเห็นผู้มีความรู้ คือผู้ที่ได้เล่าได้เรียนในวิชาการต่าง ๆ ได้สำเร็จการศึกษา และจะออกไปปฏิบัติงานตามความรู้ที่มี เป็นความรู้ที่มีความแตกต่างกันหลายสาขา รวมความที่เรียกว่าศิลปวิทยา

ศิลปวิทยานี้คือความรู้ในวิชาการ ความรู้ในวิชาการนี้แบ่งเป็นหลายชนิดด้วยกัน และต้องใช้กันทั้งนั้น สำหรับให้สังคมและประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง คือประเทศเรามีอยู่ ตั้งอยู่ และสังคมก็คือทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเป็นสังคม สังคมนี้ อยู่ร่วมกันเพื่ออะไร ก็เพื่อให้อยู่ได้สบาย มีความผาสุก ความมั่นคง อนาคตแจ่มใส เพื่อการนี้

เราก็ต้องใช้ความรู้เพื่อที่จะทะนุบำรุงความมั่นคงนี้ ทะนุบำรุงและส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ อยู่อย่างสบายขึ้นทุกที ให้อยู่สบายขึ้นนี้ก็ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเห็นอกเห็นใจกัน และเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วยวิชาการก็ยิ่งดี

ถ้าพูดถึงวิชาการในการอยู่เป็นสังคมก็เรียกว่าสังคมศาสตร์ ก็ต้องใช้วิชาการของสังคมศาสตร์มาทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยสวัสดิภาพ คือ ให้รู้ว่า คนเรามาอยู่เป็นสังคมจะต้องมีระเบียบการอย่างไร เมื่อพูดถึงเช่นนี้ก็หมายความ ต้องมีวิชาทางด้านนิติศาสตร์มาประกอบด้วย คือจะต้องมีระเบียบการ มีกฎหมาย มีระเบียบ ที่มั่นคง…

…มาถึงขั้นนี้ที่นักศึกษาทั้งหลายที่กำลังศึกษาอยู่ นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ได้มาเป็น กำลังใจ เป็นพยานต่อการมอบปริญญารับปริญญา ก็ขอให้หนึ่งเมื่อเป็นผู้ที่มาเป็นพยานต่อผู้ที่รับปริญญา ก็ให้กำลังใจกับผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ให้สามารถทำตามที่ได้ปฏิญาณตน และสำหรับตัวเองก็นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ขอให้เป็นกำลังใจต่อตัวเอง คือให้ผู้ที่ได้สำเร็จการศึกษาเป็นตัวอย่าง เป็นกำลังใจให้พวกเราทั้งหลายสามารถที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะได้ปริญญาคือความสำเร็จ

ไม่ใช่รับปริญญาเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ความสำเร็จ คือ ได้ความรู้พร้อมที่จะไปใช้ ต้องมีกำลังใจมากที่จะเรียนถึงได้ปริญญา ก็ขอให้มีกำลังใจ ดูรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง และเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้ที่จะปฏิญาณตนว่า จะทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง ยังไม่ต้องปฏิญาณตนก็ทำประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้แล้วนับแต่บัดนี้…”

เวลาต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง พร้อมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง “วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร” หรือ “วิหารน้ำน้อย” ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อทรงประกอบพิธี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่เศียรพระพุทธรูปองค์ใหม่นามว่า “พระพุทธมหามงคลบพิตร”

โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสกับ “พระมหาวีระ ถาวโร” (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างวิหารฯ พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์และถวายปัจจัยแก่พระมหาวีระ ถาวโร เพื่อสมทบทุนก่อสร้างและสำหรับใช้ในการบำรุงวิหารต่อไป

ที่มาจาก เพจน้ำเงินเข้ม