ฉันต้องไปเพราะเป็นหน้าที่ของทหาร องค์จอมทัพไทย กษัตริย์นักรบ…ยุทธการภูขวาง ที่บ้านหมากแข้ง จ.เลย น้อมรำลึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้า สมความเป็นทหาร และยังสมกับที่คนไทยโชคดีที่มีองค์ราชันย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”
นับย้อนไปในช่วงปี 2511 ที่เมืองไทยมีการสู้รบกับ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” หลายพื้นที่เต็มไปกลิ่นอายแห่งสงครามนานหลายปี โดยเฉพาะรอยต่อครอบคลุม อ.หล่มสัก และ หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์, อ.ด่านซ้าย และ นาแห้ว จ.เลย รวมถึง อ.นครไทย และชาติตระการ จ.พิษณุโลก
กระทั่งวันที่ 20 พฤศจิกายน 2511 ที่เรียกกันว่า “วันเสียงปืนแตก” ที่บ้านห้วยทรายใต้ อ.นครไทย ตั้งแต่บัดนั้นมา ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ปฏิบัติการอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งซุ่มยิง โจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และลอบยิงราษฎรได้รับบาดเจ็บล้มตายอยู่ตลอดเวลา
และที่ “บ้านหมากแข้ง” ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย นับว่าเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วย ผกค. แห่งหนึ่งจนกระทั่งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2519 ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีรับสั่งให้ ร้อยเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร(พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงไปบัญชาการรบเองด้วยพระองค์เอง
โดยข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ทหาร กองทัพภาคที่ 3 เล่าย้อนรอยถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่าพระองค์ได้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปฐานปฏิบัติการบ้านห้วยมุ่น ที่นี่ พระองค์มีรับสั่งกับ พล.ท.สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ แม่ทัพภาคที่ 3 (ในขณะนั้น) ด้วยพระสุรเสียงอันหนักแน่นว่า… “จะต้องไปแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นให้ได้”
และแม้ว่า แม่ทัพภาคที่ 3 จะกราบบังคมทูลทัดทาน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้นไม่น่าไว้วางใจ แต่พระองค์ก็ทรงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า… “ชักช้าไม่ได้ ต้องไปแก้ไขให้ได้ในวันนี้
และเดี๋ยวนี้”จากนั้นเวลา 15.30 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง มีรับสั่งให้นักบินนำเครื่องมุ่งตรงไปยังฐานบ้านหมากแข้งทันที
แต่ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กำลังจะร่อนลง ยังไม่ทันที่สกี (ฐานเฮลิคอปเตอร์) จะแตะพื้น (บางแหล่งระบุว่า ฝ่ายผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงมาอย่างไม่ขาดสายจน ฮ.ไม่สามารถลงจอดได้)
วินาทีนั้นเอง พระองค์ทรงกระโดดลงมาทันที แล้ววิ่ง “ฝ่ากระสุน” ที่ปลิวว่อนไปมาอย่างกล้าหาญ
เมื่อทรงถึงที่มั่น พระองค์ก็ได้ทรงบัญชาการรบทันที โดยรับสั่งให้ทหารตามเสด็จ แยกย้ายกันนำทหารยิงโต้ตอบผู้ก่อการร้าย และยังมีคำสั่งให้ปืนใหญ่จาก “ฐานบ้านห้วยมุ่น” ยิงถล่มผู้ก่อการร้ายอีกด้วยกระทั่งเวลา 16.00 น.
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงทรงบัญชาการให้ชุดปฏิบัติการออก “ลาดตระเวน” พิสูจน์ทราบ โดยทรงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดด้วยพระองค์เอง ทั้งๆ ที่แม่ทัพภาคที่ 3 ได้กราบบังคมทูลทัดทาน ด้วยเกรงว่าจะทรงเป็นอันตราย แต่พระองค์มีรับสั่งว่า…
“ฉันต้องไปเพราะว่าเป็นหน้าที่ของทหาร” ความมีน้ำพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวที่ทรงนำหน้าทหารบุกตะลุยไปตามเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตราย ท่ามกลางเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว แต่พระองค์ไม่ได้ทรงหวั่นเกรงแต่ประการใด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ในที่สุด ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยไปก็เป็นได้
ในที่สุด เมื่อทรงฝ่าดงระเบิดและกระสุนไปถึงหมู่บ้านหมากแข้ง ทรงไม่รอช้าเร่งเข้าฟื้นฟูขวัญกำลังใจแก่ราษฎรทันที พร้อมกับทรงขอให้ราษฎรทุกคนเชื่อมั่นว่า “ทหารจะคุ้มครองความปลอดภัยให้อย่างเต็มที่”
หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปยังบริเวณที่เฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตก ทรงตรวจสภาพเฮลิคอปเตอร์อยู่เป็นเวลานานและต่อมาได้เสด็จฯ ไป “โรงเรียนบ้านหมากแข้ง” ที่เคยถูกผู้ก่อการร้ายปิดล้อมและยึดไว้ และฝ่ายรัฐยึดกลับคืนมาได้
เพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ครูและนักเรียนตลอดวันนั้นพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และยังได้พระราชทานคำแนะนำยุทธวิธีด้านต่างๆ ทั้งการลาดตระเวน พิสูจน์ทราบ วางกับระเบิด พลุสะดุด สัญญาณเตือนภัยต่างๆ ยุทธวิธีปฏิบัติการในพื้นที่ป่าเขา รวมทั้งได้ทรงกระทำเป็นตัวอย่าง
คืนนั้นพระองค์ได้ “ประทับแรม” ที่ฐานปฏิบัติการ โดยเข้าที่บรรทมเวลา 24.00 น. ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น พระองค์บรรทมในหลุมบุคคล ซึ่งมีความลึกประมาณ 2 ฟุต หลังคามุงด้วยหญ้าคาและทรงมีแค่
“ผ้าปันโจ” ปูพื้น (ผ้าปูสำหรับการเดินป่า) และใช้เป้ทหารหนุนพระเศียร บรรทมในชุดเครื่องแบบสนามที่ทรงนำไปชุดเดียว โดยไม่มีเสื้อแจ๊กเกตฟิลด์ไว้ใส่กันหนาว หรือผ้าห่มแม้แต่ผืนเดียว
จนรุ่งเช้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2519 พระองค์เสด็จฯ ตรวจการวางกำลัง และทรงควบคุมการกู้กับระเบิดรอบฐาน และมีรับสั่งให้จัดกำลังออกพิสูจน์ทราบเส้นทาง และพื้นที่เนินเขาบริเวณหมู่บ้านอีกครั้ง
จนเมื่อพระราชทานวิธีรักษาการป้องกันฐานปฏิบัติการ และการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ราษฎรแล้ว จึงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ ที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับ
กระทั่งได้เสด็จพระราชดำเนินมาอีกครั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2519 เพื่อตรวจผลการซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎร สร้างความปีติยินดีแก่ราษฎรเป็นอย่างยิ่งและราวกับปาฏิหาริย์บังเกิด การสู้รบอันยาวนานก็สิ้นสุดลงหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศยอมแพ้ สงครามจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2525
หน้าที่ของทหาร
หน้าที่ของทหาร
หน้าที่ของทหาร
หน้าที่ของทหาร
หน้าที่ของทหาร
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
https://bit.ly/3xdkxHK