ต้นกำเนิด ‘โครงการแก้มลิง’

“…เราจำได้ เมื่ออายุ 5 ขวบ มีลิง เอากล้วยไปให้มันก็เคี้ยว เคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง ‘โครงการแก้มลิง’ นี้มีที่เกิดเมื่อเราอายุ 5 ขวบ”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538

โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นทฤษฎีหนึ่งในการบรรเทาปัญหา น้ำท่วม ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management) ด้วยการสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ “แก้มลิง” เพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักในคราวเดียวกันจนท่วมบ้านเรือนเสียหาย
–ปัญหาน้ำท่วม นับเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอดนับตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะในพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” แนวพระราชดำริในการแก้ไขมีทั้งการสร้างคันกั้นน้ำเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การขุดลอกคลองที่ตื้นเขินให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น รวมถึงการผันน้ำให้ระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับความเดือนร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างยิ่ง โดยพระองค์จะทรงพระราชทานความช่วยเหลือและเสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงหาทางแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนตลอดรัชสมัย

ความสนพระราชหฤทัยเรื่อง “น้ำ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยมีครั้งหนึ่งระหว่างการเสด็จฯ ปิกนิกใกล้ลำธารแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรง “เล่นทำเขื่อน” อยู่ริมลำธารนั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้มีการกล่าวถึงในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเป็นการบรรยายใต้ภาพความว่า “อดไม่ได้ที่จะเล่นทำเขื่อน”

ด้วยความสนพระราชหฤทัยเรื่องน้ำและพระวิริยะในการใฝ่หาความรู้ทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริงด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้หลักการจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาทางธรรมชาติที่ราษฎรประสบมาเนิ่นนาน โดยครั้งหนึ่งทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์สากล ภาค 310 (ประเทศไทยและประเทศลาว) ไว้เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า

“…บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมฉันเอง ทำไมสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้ จำได้ว่าเมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็วทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำให้เสียหาย ดินหมดจากภูเขา เพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดตั้งแต่ดินภูเขาจะหมดไปกระทั่งที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อนมีตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้เกิดน้ำท่วม นี่น่ะ เรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ”