ภาพเขียน ‘จตุโลกบาล’ ภายในห้องพระบรรทม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยพระองค์ทรงออกแบบภาพชุดดังกล่าว และ ‘นายซี ริโกลี’ เป็นผู้ลงสี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2460
ภายในห้องบรรทมตกแต่งด้วยศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เพดานถูกดัดแปลงให้เป็นโดมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พร้อมเขียนภาพแบบปูนเปียก (Fresco) เป็นภาพจตุโลกบาลตามคติอย่างอินเดียซึ่ง ‘สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์’ ทรงออกแบบ อันได้แก่
ภาพพระอินทร์ เทพประจำทิศตะวันออก (บูรพา) ทรงพระภูษาสีน้ำเงิน ทรงวชิราวุธและพระแสงศรในพระหัตถ์ มีคนธรรพ์เล่นดนตรีเป็นเทพบริวาร บริเวณฐานเขียนภาพช้างทรง (ด้านซ้ายคือช้างเอราวัณ ส่วนด้านขวาสันนิษฐานว่าอาจเป็นช้างคีรีเมขล์ไตรดายุค) และจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “ศักระ” (ตรงกับภาษาบาลีว่า สักกะ แปลว่า ผู้องอาจ) ตามแบบอักษรซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงประดิษฐ์ขึ้น ลักษณะคล้ายอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีลักษณะเด่นคือ พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์อยู่ในบรรทัดเดียวกันทั้งหมด
ภาพพระยม เทพประจำทิศใต้ (ทักษิณ) ทรงพระภูษาสีแดง พระหัตถ์ขวาทรงกระบอง มีเทพบริวารคือ กาลบุรุษ และ จิตรคุปต์ (เจตคุปต์) บริเวณฐานเขียนภาพกระบือ ซึ่งเป็นเทวพาหนะ และจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “ยมะ”
ภาพพระวรุณ เทพประจำทิศตะวันตก (ประจิม) ทรงพระภูษาสีฟ้า พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ มีเทพบริวารถือบังสูรย์ถวาย และมกร (มังกร) เทวพาหนะ อยู่ด้านหลัง บริเวณฐานจารึกพระนาม “วรุณะ”
ภาพพระอัคนี ทรงเขียนไว้ทางด้านทิศเหนือ ทรงหอกในพระหัตถ์ขวา และพระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัว มีควันไฟเป็นพระรัศมี มีแกะเป็นเทวพาหนะ และกองกูณฑ์ทางด้านขวาและซ้ายของภาพ บริเวณฐานจารึกพระนาม “อัคนิ”
ฝีพระหัตถ์การออกแบบชุดนี้ นับเป็นภาพฝีพระหัตถ์อันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งทรงปรับแก้หลายครั้งให้เหมาะสมตามตำราและเหมาะสมด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพ (Composition) ซึ่งได้ประจักษ์ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพดังได้แสดงผ่านทางภาพเขียนเหล่านี้
แม้ภายในห้องพระบรรทมจะมีจตุโลกบาลคอยคุ้มภัยปกปักรักษาพระผู้ประทับ แต่ห้องบรรทมภายในพระที่นั่งบรมพิมานนี้ ก็คือสถานที่ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 ทรงต้องพระแสงปืนจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้