รัชกาลที่ 1

7 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคต “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” รัชกาลที่ 1 องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง”

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2280) เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา ทรงออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง “หลวงยกกระบัตร”

ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ และได้สมรสกับ “คุณนาค” (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ ณ บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม

 

ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และ “พระยาตาก” (สิน) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี “นายทองด้วง” ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ 32 ปี

ได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “พระราชริน (พระราชวรินทร์) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา” และประกอบคุณงามความดีทางราชการสืบมาจนได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”

กระทั่งในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ภายหลังการาสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแทน ทั้งยังโปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” (พระแก้วมรกต) มาประดิษฐานยัง “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” (วัดพระแก้ว)

แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน และทรงพระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

หลังจากการฉลองพระนครและวัดพระแก้วแล้วล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ก็ทรงประชวรด้วยพระโรคชราอยู่นาน 3 ปี และพระอาการทรุดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน


พระบรมศพขององค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ถูกเชิญลงสู่พระลองเงิน ประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่ แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ

ทั้งนี้ การพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ โดยหลังรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก ได้มีการรื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ

ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2351 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “โกศทองใหญ่” ขึ้นเพื่อทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดา สิ้นพระชนม์ ทรงเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระโกศทองใหญ่ทรงพระศพครั้งแรก

และเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตามราชประเพณีแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยกำหนดสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่เต็มตามตำราทุกประการ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2354

จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจัดให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2355 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง หลังจากนั้นมีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล แล้วเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

การพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนี้เองที่ได้มีการใช้ “เกรินบันไดนาค” ซึ่ง “สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี” (ต้นราชสกุลมนตรีกุล) ทรงออกแบบ สำหรับเชิญพระศพ และเป็นแบบอย่างที่ใช้มาจนถึงในปัจจุบัน นอกจากนี้ พระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถ ที่ใช้ทรงพระบรมศพและพระศพเจ้านายในเวลาต่อมา ก็ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
https://bit.ly/3wZDCgI