สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ

เวลา 16.45 น. ของวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์” สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการน้ำท่วมพระปัปผาสะ (ปอด) และพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 ปี 267 วัน

ราว 2 เดือนภายหลังการสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ

เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์” เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2473 กระทั่ง “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร” พระราชโอรส เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8

แห่งราชวงศ์จักรี ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น “สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์”

มิเพียงทรงเป็นพระราชบิดาของพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์” ยังทรงได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่าทรงเป็น #พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย อีกด้วย ดังนั้น

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ขนานนาม วันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ว่า “วันมหิดล” เพื่อเป็นการถวายสักการะแด่ “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

โดย 21 ปีหลังการเสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2493

นั่นเอง ที่นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทั้งนี้ พระมหากรุณาธิคุณที่ “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์” หรือ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดลุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทรงมีต่อการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยนั้นมากมายอเนกอนันต์ มีอาทิ

พระราชทานทุนการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศ เรียกว่า “ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์” พระราชทานทุนเพื่อค้นคว้าและการสอนในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนับว่าเป็นทุนแรกของทุนประเภทนี้ในประเทศไทย

ทรงเป็นผู้แทนของรัฐบาลทำการติดต่อ “มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์” ให้ช่วยเหลือปรับปรุงการศึกษาแพทย์และพยาบาลให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์

เพื่อขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช อันรวมทั้งที่ดินและอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่เรียน หอผู้ป่วย และหอพักนักศึกษาแพทย์และพยาบาล ติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
https://bit.ly/3SbpCsJ