กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ทรงเปิดงาน “ตรานกยูงพระราชทานฯ”

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 27 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเปิดงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.), ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัด กษ., นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเข้าสู่ ฮอลล์ 9 ประทับพระราชอาสน์ แล้วพระราชทานการ์ดรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี 2565 รางวัล 24 ประเภท จำนวน 30 ราย

จากนั้นทรงตัดแถบแพรเปิดงานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ทอดพระเนตรนิทรรศการงานตรานกยูงพระราชทาน ผลงานการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ และนิทรรศการหม่อนไหม และเสด็จฯกลับ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ถึงพระราชปณิธานใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทย และเพื่อให้ผ้าไหมเป็นที่เลื่องลือสู่สากล ไหมไทยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในประเทศ ที่เน้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิตที่ต้องผลิตในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยพระราชทานเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง นกยูงสีเงิน นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว

เพื่อสนองพระราชปณิธานอันแน่วแน่และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ กรมหม่อนไหมจึงจัดงานนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศในสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ที่มีเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมหม่อนไหมกระบวนการผลิตที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุณภาพความสม่ำเสมอของเนื้อผ้า คุณภาพของสีย้อมและความคงทนของสีต่อการซัก ที่มีการอนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการพัฒนาการฟอกย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ สีย้อมที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นสีธรรมชาติหรือสีเคมีต้องเป็นสีที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน

รมว.กษ.กล่าวอีกว่า การใช้หรือการสวมใส่ชุดผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน นอกจากจะให้ความรู้สึกสง่างามด้วยผ้าไหมมีความนุ่มนวลเงางามลวดลายวิจิตรบรรจงเป็นเอกลักษณ์ และเกิดความภาคภูมิใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมสืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอันดีงามของชาติไทยแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงการสืบสานภูมิปัญญาของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ขณะที่ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมยังได้จัดทำโครงการ 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เป็นการรวบรวมลายผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริ จำนวน 90 ลาย และจัดทำหนังสือเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับลายผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริ เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีลายผ้าอัตลักษณ์ 90 ลาย ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพจากจังหวัดต่างๆ อาทิ ลายศาลาทรงงาน ลายภูพาน ลายโคมห้า ลายหมากจับ ลายตาสับปะรด ลายภูเขาดอกฝ้าย ลายเกาะล้วงน้ำไหล ลายฉัตร ลายดอกจันทร์ ลายผ้าจกลายขิด ลายกวาง ลายดอกจันทร์ ลายนางหาญ ลายดาวล้อมเพชร ลายปูนาปลาช่อน ลายราชวัตรห้อง ลายแก้วชิงดวง ลายดอกกระเจียวและลายผีเสื้อ ลายขอนแคน ลายโฮล (สตรี) ลายขอนาค เป็นต้น

ซึ่งแต่ละลวดลายจะมีความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อันเกิดจากแรงบันดาลใจของเกษตรกรที่ต้องการสืบสานสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เกิดความภาคภูมิใจในการริเริ่มสร้างสรรค์การออกแบบลวดลายผ้า และสร้างความภาคภูมิใจในการสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี การจัดงานนี้เราต้องการให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้ทอผ้า เอกชน นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับลายผ้าไหมไทย และประวัติลายผ้าไหมไทย การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ไหมและการแปรรูป เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม

รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่มีเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผู้ประกอบการ ให้มีความมั่นคงทางอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สนใจร่วมงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ในระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2565 ณ ฮอลล์ 9 อิมแพค เมืองทองธานี

ที่มาจาก มติชน