พระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ สมเด็จย่า

‘สมเด็จย่า’ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีงานฝีพระหัตถ์หลากหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือ ‘งานปั้น’ จำพวกจานรองเล็ก ๆ ถ้วย ฯลฯ และจะทรงลงพระนามไว้ที่ก้นภาชนะทุกชิ้น ก่อนจะทรงลงสี เคลือบน้ำยา แล้วส่งไปจ้างอบตามร้านค้าในเมืองโลซานน์ เพราะไม่ทรงมีเตาอบของพระองค์เอง

ส่วน การปั้นพระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ นั้นทรงปั้นตามแบบพระพุทธรูปแกะด้วยหินแก้วที่ประดิษฐานอยู่ ณ แฟลตที่พัก ทรงเคลือบน้ำยาสีเขียวมรกตเป็นส่วนมากแล้วส่งไปจ้างอบ โดยพระราชนิพนธ์ “เวลาเป็นของมีค่า” ใน ‘สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์’ เล่าถึงงานปั้นฝีพระหัตถ์สมเด็จย่าไว้ว่า การจ้างอบงานปั้นตามร้านค้าในเมืองโลซานน์นั้นจะต้องเสียค่าจ้างเป็นรายชิ้น และร้านแรกที่ทรงจ้างปรากฏว่าอบออกมาแล้วแตกจึงไม่เสด็จไปร้านนั้นอีกเลย

งานปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่สมเด็จย่าโปรดใช้เวลาว่างในการทรงงานอดิเรก พระพุทธรูปทุกองค์จะมีหมายเลขและลายเซ็นกำกับ ซึ่งมีถึง 142 องค์ โดยสมเด็จย่าทรงปั้นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 9 เซนติเมตร 1 องค์ ถวายแด่ ‘สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช’ กับได้ทรงปั้นพิเศษอีก 2 องค์ฝังทับทิมไว้รอบฐานองค์ที่ 99 ทวิ (bis)

ทรงถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำไปประดิษฐานอยู่บนพระแท่นที่ห้องบรรทม ส่วนองค์ที่มีหมายเลข 31 สมเด็จย่าทรงพระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นอกจากนี้ มีหนึ่งองค์ที่ทรงเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบ สีขาว (มีเพียงองค์เดียว) หมายเลข 109 ทรงพระราชทานแก่ ‘ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม’ เมื่อครั้งตามเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

อีกส่วนหนึ่งพระราชทานตามอัธยาศัยไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนที่เหลือทรงให้ข้าราชบริพารและราษฎรที่ต้องการเช่าไปบูชาเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว

เรียบเรียงโดย: เพจน้ำเงินเข้ม