“ภูมิพลอดุลยเดช เกษตรกร” ชื่อโฉนด ที่ใครต่อใครที่ได้พบเห็นต่างพากันประหลาดใจเช่นเดียวกับเจ้าของที่บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเมื่อครั้งปี 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินผืนนี้จากราษฎร ประมาณ 120 ไร่ และต่อมาปี 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่
โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานชื่อโฉนดดังกล่าวว่า “ภูมิพลอดุลยเดช เกษตรกร”จากพื้นที่เดิมเป็นดินลูกรัง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น มีเพียงต้นยูคาลิปตัสเท่านั้นแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในการฟื้นฟูพื้นดินดังกล่าว ทำให้พื้นที่นี้กลับมามีชีวิตชีวา และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดโครงการดังกล่าวโดยการนำมันเทศวางบนตราชั่ง
พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการดังกล่าวว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”ชั่งหัวมัน (ช่างหัวมัน) หากตีความหมายตามสำนวนไทย ก็หมายถึง “ไม่ต้องไปสนใจ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ใครจะทำอะไรก็ทำไป เราไม่ต้องไปใส่ใจ” มีผู้รู้ให้ความเห็นส่วนตัวไว้ว่า
“ให้เรากลับมาหาสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่จำเป็นพื้นฐานของชีวิต ใครจะเจริญทันสมัย เจริญทางวัตถุก็ปล่อยเขาไป ไม่ต้องสนใจ เรากลับมาหาสิ่งสำคัญ จำเป็นพื้นฐานของชีวิต ให้ชีวิตเรามีพออยู่ พอกิน
มีอาหารไม่ต้องมีอย่างคนอื่น แต่มีความสุขก็เพียงพอ เช่นเดียวกับ หัวมัน ที่เป็นพืชใต้ดินที่ไม่มีใครเห็น ดูๆ ไปแล้วก็ไม่มีค่าอะไร เป็นพืชที่ขึ้นง่าย ขึ้นในทุกสภาพอากาศ แม้ในที่ที่แล้งที่สุด หัวมันก็ยังขึ้นได้ หัวมันจึงเป็นสัญลักษณ์ ของสิ่งมีค่า ในยามวิกฤตที่สุด ไม่มีข้าว ไม่มีปลา ก็ยังมีหัวมันที่เราสามารถใช้ประทังชีวิตได้ ”
นั่นแสดงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเป็นนักปราชญ์ มีสายพระเนตรยาวไกลและความคิดลึกซึ้ง ชั่งหัวมันจึงมีความหมายมากกว่าเพียงแค่การนำหัวมันมาชั่ง
“…คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้น ก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ก็ไม่ก้าวหน้า
ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร
ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำ แล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดร่วมกันทำ และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ…” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552
“โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” ถือเป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยพระองค์ทรงเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมกันดูแล พืชเศรษฐกิจที่ปลูกภายในโครงการดังเช่น สับปะรด มะพร้าว มะนาว มะขาม ข้าวปทุมธานี 80 ข้าวหอมมะลิ น้อยหน่า รวมทั้งมันเทศ เป็นต้น
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนมากมาย ที่เข้ามาเที่ยวหรือศึกษาดูงาน ทางโครงการจะมีวีดีทัศน์แนะนำโครงการ พร้อมทั้งรถเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำรายละเอียด ตลอดระยะทาง 2 ข้างทางที่เยี่ยมชม
ซึ่งส่งผลให้ผู้เข้าชมโครงการได้รับความรู้และเกิดความประทับใจ ถือว่าตรงตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชน สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่เกษตรในท้องถิ่น ทั้งเรื่องพลังงานทดแทน เกษตรกรรมแบบผสมผสาน และเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมสนองพระมหากรุณาธิคุณพัฒนา และต่อยอดโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
ด้วยการจัดตั้งโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบริเวณ พื้นที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระปุก – เขาเตาหม้อ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
เพื่อสร้างประโยชน์ด้านน้ำให้แก่ราษฎรในพื้นที่ และเป็นการพัฒนาการเก็บกักน้ำ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน้ำและป่าให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น โดยมีการเพิ่มลานเอนกประสงค์ 2 พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างลานเอนกประสงค์ จากฐานรากแบบแผ่เป็นฐานรากแบบเสาเข็ม
และเพิ่มการก่อสร้างคันดินชั่วคราว เพื่อกักเก็บน้ำระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งปรับแก้ไขตำแหน่งของสะพานทางเดินข้ามอ่างเก็บน้ำ, ลานเอนกประสงค์ 1, ลานพักทางเข้า และเกาะชมนก ใช้งบประมาณกว่า 12,368,000 บาท
โดยอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ได้เดินทางเข้าติดตามความคืบหน้าโครงการดังกล่าวพร้อมคณะกล่าวว่า
” กรมทรัพยากรน้ำเข้ามามีส่วนในการฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ของโครงการชั่งหัวมันฯ เราทำเพื่ออำนวยความสะดวกไม่ใช่เพื่อคนที่มาเยี่ยมชมโครงการเท่านั้น แต่เรายังทำเพื่อรักษาระบบนิเวศด้วย
เราสร้างเกาะให้นกมาอยู่ สร้างสะพานให้คนข้าม เราจะทำให้ครบทุกมิติ เพื่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่สำคัญมีความตั้งใจมั่นที่จะทำถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ความคืบหน้าของโครงการ 70% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 พ.ย. นี้”
โครงการชั่งหัวมันที่สมบูรณ์ ต้องมีแหล่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ นั่นแสดงถึง ความสำคัญของน้ำที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ทั้งน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งเสริมในด้านการเกษตร ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 สวนจิตรลดา ที่ว่า
“…หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
https://bit.ly/3RSmuBp