ในหลวงร.๙ แก้ปัญหา “น้ำท่วม” พระราชาผู้สอนวิชาชลประทาน

หลายคนมักจะพูดถึง “เหตุการณ์น้ำท่วม กรุงเทพฯ” นั้นเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ได้สักที แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า พ่อหลวง ร.๙ ของเราพระองค์ท่านเห็นถึงปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ทรงคิดค้น และหาแนวทางเพื่อป้องกันเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม เพื่อคอยช่วยเหลือราษฎรของพระองค์มานานกว่า 37 ปี

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปัญหาที่แก้ยาก
“…เห็นทีกรุงเทพมหานครจะอยู่กันอย่างธรรมชาติๆ โดยไม่ทำอะไรเลยไม่ได้แล้ว” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งเมื่อพระองค์ท่านเห็นปัญหาน้ำท่วมอันเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ ในหลวง ร.๙ ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการจัดการด้านทรัพยากรน้ำผ่านโครงการพระราชดำริ 4,634 โครงการ เป็นโครงการเกี่ยวกับน้ำมากที่สุดถึง 1,671 โครงการ

จากข้อมูลในหนังสือ ปูมตำนาน งานระบายน้ำ สยามราชธานี 2557 เผยเรื่องราวว่า กรุงเทพมหานคร เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย. เกิดฝนตกหนักในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ประกอบกับเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูง ส่งผลให้หลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วม ทั้งบางกะปิ ห้วยขวาง พระโขนง และบางส่วนของบางเขน บ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างมาก

ในครั้งนั้นในหลวง ร.๙ ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรน้ำท่วมด้วยพระองค์เอง และมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยกัน 5 ประการ คือ 1. เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ผ่านแนวคลองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ 2. กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อป้องกันการขยายของเมืองและแปรสภาพเป็นทางระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก 3. สร้างระบบป้องกันน้ำในเขตชุมชน 4. สร้างสถานที่เก็บกักน้ำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยในโครงการเก็บกักน้ำ และ 5. เปิดทางน้ำในจุดที่น้ำไหลผ่าน เช่น ทางหลวงหรือทางรถไฟ

ขณะที่โครงการตามพระราชดำริกำลังดำเนินการอยู่ ทว่ายังไม่ทันแล้วเสร็จ 2 ปีต่อมาได้เกิดน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัย และบริเวณลาดพร้าว พระองค์ท่านได้แก้ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนั้นด้วยการ ระบายน้ำผ่านตัวเมืองโดยใช้ประโยชน์จากเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ให้มากที่สุด พร้อมกับให้ขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลระบายได้สะดวกขึ้น

ปี 2526 ช่วงเดือน ส.ค. ถึงปลายปีได้เกิดฝนตกหนัก ชาวกรุงเทพฯ ต้องเจอศึกหนักทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังนานกว่า 4 เดือน สร้างความเสียหายกว่า 6,598 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ ตรวจพื้นที่ถึง 6 ครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและมีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้นตามมาอีกหลายโครงการ

ทั้งโครงการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบตามพระราชดำริ โครงการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังบริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ตามพระราชดำริ โครงการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังบริเวณย่านพระโขนง บางนา-ตราด ตามพระราชดำริ โครงการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาษีเจริญ หนองจอก และบางขุนเทียนตามพระราชดำริ เป็นต้น

นภันต์ เสวิกุล ช่างภาพผู้ที่ได้มีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในที่ต่างๆ ได้โพสต์เรื่องเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2526 พระองค์เสด็จฯ ออกตรวจสภาพน้ำท่วมครั้งแรกในวันที่ 8 ต.ค. 2526 บริเวณรามคำแหง หัวหมาก หมู่บ้านเสรี – Indoor stadium และซอยศูนย์วิจัย ซึ่งน้ำท่วมสูงเป็นอย่างมาก
สิ่งที่พสกนิกรอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่า ในขณะนั้นในหลวง ร.๙ เสด็จฯ ขึ้นประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เพื่อออกตรวจสภาพน้ำท่วมบริเวณทุ่งลาดพร้าว รวมทั้งเสด็จฯ ไปตรวจตามประตูน้ำต่างๆ ด้วยพระองค์เอง

แม้เวลาล่วงเลยมาเกือบตี 2-ตี 3 แต่ยามที่คอยเฝ้าประตูระบายน้ำยังคงเห็นพระองค์ท่านเดินตรวจน้ำท่วมหลายต่อหลายแห่ง ในขณะที่พสกนิกรหลับกันทั้งเมืองแล้ว จากนั้นได้ทรงมีพระราชดำริให้ใช้เครื่องเรือหางยาวผลักดันเพื่อระบายน้ำ
ครั้งหนึ่ง ในหลวง ร.๙ ประชวร พระอาการของพระองค์ คือฟันซี่หนึ่งหักเฉียดเส้นประสาท ซึ่งปีนั้นเป็นปี พ.ศ. 2528 เกิดน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พอๆ กับพระอาการของพระองค์ ซึ่งเมื่อทรงพบว่าจะต้องใช้เวลาในการรักษาฟันซี่นั้นถึง 2 ชั่วโมง ทรงรับสั่งกับคณะแพทย์ที่รอถวายการรักษาออกมาว่า
“…ขอรอไว้ก่อนนะ…ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน…”
ดั่งพระราชา และครูในคราวเดียวกัน

ในทุกๆ ปี เนื่องในวโรกาสสำคัญๆ ในหลวง ร.๙ จะมีพระบรมราโชวาทแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ในวันที่ 4 ธ.ค. 2538 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา นับเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ไม่มีวันจางหายและสร้างความปีติที่สุดในชีวิตแก่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สุจริต นันทมนตรี เมื่อครั้งถูกในหลวง ร.๙ ทรงเรียกไปถวายรายงานเรื่องปัญหาน้ำท่วม เปรียบเสมือนคุณครูที่คอยสอนสั่งนักเรียน

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาตั้งแต่ปี 2538 ทว่ายังมีผู้โพสต์คลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นและถูกแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก กับพระอารมณ์ขันของพระราชาที่น้อยครั้งจะได้เห็นกัน
“… ได้ทราบว่า จังหวัดแพร่ มีความเดือดร้อน เพราะมาจากความเดือดร้อนของจังหวัดน่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาหรือเปล่า ถ้าผู้ว่าฯ จังหวัดแพร่ไม่มา ก็ไม่ว่าอะไร เพราะว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาที่นี่ทั้งหมด ใครจะปกครอง แล้วก็มีปลัดจังหวัด มีนายอำเภอ ปลัดกิ่งอำเภอต่างๆ ที่บอกว่าจะบวช จะบวช แล้วใครจะปกครอง? เขาเขียนมาบอกว่าปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดกิ่งอำเภอ ต่างๆ จะบวชถวายเป็นพระราชกุศล เราก็บอกว่ายินดี อนุโมทนา แต่ว่าเขียนไว้ ไม่ทราบว่าตอบไปหรือเปล่าว่า เขียนว่าใครจะปกครอง? ต้องถามกรมการปกครอง แต่ว่าดีแล้วที่เขาไม่มา เขาจะได้ดูแลปกครอง หรือ เขาไปไหนไม่ทราบ

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่ที่จะปกครอง ที่จะดูแลในเขตของตัว เพื่อที่จะให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งหลังจากมีน้ำท่วมนี้ก็จำเป็นที่จะให้มีผู้ใหญ่ดูแลและปฏิบัติงาน อย่างผู้ว่าฯ จังหวัดน่านตะกี้ มาเสนอ 3 เขื่อนนี้ก็เป็นประโยชน์ดีมาก สามารถที่จะจี้ตรงจุดที่ถูกต้อง เพราะว่าถ้ามี 3เขื่อนนี้ ก็จะสามารถที่จะเก็บน้ำเอาไว้ได้ ก็จะบรรเทาความเดือดร้อน ของบริเวณที่ถูกน้ำท่วมด้านล่าง เนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนพระนางเจ้าฯ”
ส่วนหนึ่งจากพระบรมราโชวาทของในหลวง ร.๙ พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิตเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2538

พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้ “ก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ” เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญประการหนึ่ง ในการกักเก็บน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก โดย เก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนในลักษณะอ่างเก็บน้ำซึ่งปัจจุบันดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่งในประเทศไทย และการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในระดับประเทศนั้น คือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบนจังหวัดนครนายก
นอกจากนี้ ในหลวง ร.๙ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้มีระบบการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมในวิธีการที่เรียกว่า “แก้มลิง” ซึ่งได้พระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า
…ลิง โดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้มลิงจะเอากล้วยเข้า ไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อนแล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภคและกลืนกินเข้าไปภายหลัง…

เปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
สายพระเนตรอันยาวไกลของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ท่านมีต่อปวงชนชาวไทย นับเป็นสิ่งที่ทุกคนควรน้อมนำมาปฏิบัติและเดินรอยตาม เพราะโชคดีแค่ไหนที่ประเทศไทยมีพระราชาที่ทรงงานอย่างหนักและห่วงใยคนไทยอย่างแท้จริง …

ที่มาจาก https://bit.ly/3REDUlc