ความห่วงใยที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีต่อกัน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2523 “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวหญิงจากสโมสรนักข่าวหญิงแห่งประเทศไทย ในโอกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงน้ำชา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เกี่ยวกับการถวายการดูแล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ดังความตอนหนึ่งว่า

“…ต้องดูแล เพราะว่าบางครั้งท่านเพลินกับงาน กว่าจะออกมาเสวยก็ช้า ต้องคอยเคาะประตู คอยเข้าไปเฝ้าฯ แล้วก็เวลาหลังจากที่ประชวรเป็นปอดบวมเลยคอยห่วง ตอนนี้ท่านก็ย่างพระชนม์มากขึ้น ยิ่งทำงานหนัก

เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวประชวร (ราวต้นปี พ.ศ. 2518) ตอนนั้นหมอที่รักษาร้องไห้ พี่ชายฉัน (นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร) ก็เป็นหมออยู่ด้วย หน้าเขียวไม่นอนทั้งคืน เขาบอกว่ารู้สึกว่าเรากำลังจะเสียท่านไป เพราะว่าหมอให้ยาเท่าไร ๆ ไข้ไม่ลงเลย ท่านแบบคล้าย ๆ เพ้อ ๆ คือปอดทั้งสองข้างนี่บวม แล้วสุดปรอทอยู่ได้ตั้งเกือบ 10 วัน จนหมอบอกว่านี่ถ้าเป็นคนหัวใจไม่ดีก็หัวใจวายแล้ว สมเด็จพระศรีฯ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ท่านไปดูเองเลย…”

นอกจากนี้ “พลเอก นายแพทย์ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา” อดีตแพทย์ผู้ถวายงานและตามเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เคยเล่าถึงความห่วงใยดูแลซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอของทั้งสองพระองค์ว่า

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังครั้งหนึ่งที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ปกติทั้งสองพระองค์จะออกพระกำลังด้วยวิธีทรงพระดำเนินขึ้น-ลงพระตำหนัก ประมาณ 35 นาที แต่มีวันหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงงานข้างนอก ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ไม่ได้ตามเสด็จฯ ด้วยและจะทรงออกพระกำลังเหมือนเช่นทุกวัน

“…วันนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งกับผมว่า ‘วันนี้สมเด็จฯ ไม่เสด็จฯ ด้วยและจะทรงออกกำลังตามปกติ ให้หมอเดินนำหน้า เข้าใจไหม เพราะถ้าสมเด็จฯ เดินเร็วจะทำให้เหนื่อย ให้หมอเดินนำ แต่อย่าเร็วเกินไป’

หลังจากนั้นพอสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จลงจากพระตำหนัก ผมก็ทรุดตัวลงกราบพระบาทแล้วเดินนำหน้าพระองค์ คนที่ไม่รู้พอเห็นก็สงสัยว่าทำไมผมถึงทำแบบนั้น แต่ภายหลังรู้ว่าเป็นพระบรมราชโองการจึงเข้าใจ”

เรียบเรียงโดย: เพจน้ำเงินเข้ม